แชร์

มะเร็งคืออะไร มีวิธีคัดกรอง วิธีรักษา และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไรบ้าง

15 ผู้เข้าชม

โรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทยและประชากรทั่วโลก ในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในประเทศไทยกว่า 140,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 84,000 รายต่อปี (นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน) ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาจากทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม และพันธุกรรมอย่างยีนก่อโรคมะเร็ง (Oncogenes) การรู้เท่าทันโรคมะเร็งและการตรวจคัดกรองแต่เนิ่น ๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง เพื่อเพิ่มโอกาสรักษาให้หายขาดสูงมากขึ้น แต่หากตรวจพบในระยะลุกลาม โอกาสรักษาให้หายขาดจะลดลง

ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับโรคมะเร็งให้มากขึ้น ว่าโรคมะเร็งนั้นคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร การดูแล รักษา และป้องกันโรคมะเร็ง สามารถทำอย่างไรได้บ้าง

โรคมะเร็งคืออะไร

โรคมะเร็ง (Cancer) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์นั้น ๆ เติบโตอย่างรวดเร็วเกินกว่าปกติ โดยเซลล์ที่ผิดปกติ หรือที่เรียกว่า เซลล์มะเร็ง จะเจริญเติบโตและลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ส่งผลให้เซลล์ปกติล้มเหลว และอวัยวะนั้นๆ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในที่สุด โดยโรคมะเร็งที่พบเจอได้บ่อย เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งปอด, มะเร็งตับ, มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
โดยการทางแพทย์ ได้มีการแบ่งระยะของมะเร็งเป็น 5 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 0 (Stage 0 Cancer): เซลล์เริ่มมีลักษณะเป็นมะเร็ง แต่ยังไม่มีการลุกลาม ระยะนี้มักไม่นับเป็นโรคมะเร็ง
  • ระยะที่ 1 (Stage 1 Cancer): เป็นก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็งขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม
  • ระยะที่ 2 (Stage 2 Cancer): มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะนั้น ๆ
  • ระยะที่ 3 (Stage 3 Cancer): มะเร็งลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงหรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง
  • ระยะที่ 4 (Stage 4 Cancer): หรือระยะแพร่กระจาย (Metastatic Cancer) เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป เช่น ท้อง ตับ ลำไส้ เป็นระยะสุดท้ายที่รุนแรงที่สุด

มะเร็งระยะลุกลาม คืออะไร

มะเร็งระยะลุกลาม (Advanced Cancer) มักใช้เรียกโรคมะเร็งในแต่ละระยะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำให้การรักษามะเร็งในระยะนี้ มักเป็นการประคับประคองอาการของผู้ป่วยไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากโรคมะเร็งระยะแพร่กระจายตรงที่ระยะลุกลามสามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นเสมอไป

สาเหตุของโรคมะเร็ง

ในปัจจุบัน มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง โดยแบ่งเป็นปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในร่างกาย ได้แก่

  • ปัจจัยภายนอกของการเกิดโรคมะเร็ง
    • การได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย เช่น สารเคมีจากควันบุหรี่และควันเผาไหม้ สารพิษ สารเคมีจากภาคอุตสาหกรรม
    • การได้รับรังสี เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) หรือ กัมมันตรังสี (Radioactive Substances)
    • การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus) หรือ ฮิวแมน แพพพิโลมา ไวรัส (Human Papilloma Virus หรือ HPV) ที่มีความสัมพันธ์กับมะเร็งปากมดลูก
  • ปัจจัยภายในร่างกายของการเกิดโรคมะเร็ง
    • กรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ
    • ฮอร์โมนขาดความสมดุล
    • ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
    • ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หรือได้รับสารอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสม

บทบาทของพันธุกรรมต่อการเกิดโรคมะเร็ง

พันธุกรรม เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยยีนกลายพันธุ์ในผู้ป่วยมะเร็งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งการกลายพันธุ์ที่ถ่ายทอดมาแต่กำเนิด และการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในภายหลัง จากปัจจัยแวดล้อม เช่น รังสี สารเคมี หรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิด

ยีนก่อโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประชากรไทย ได้แก่ ยีน BRCA1, BRCA2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านมและรังไข่ และยีน MLH1, MSH2 ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากยีนเหล่านี้เกิดการกลายพันธุ์ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งสูงกว่าคนทั่วไป

ในการรักษาโรคมะเร็งนั้น การเลือกรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์นั้น ๆ จะช่วยยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และให้ผลการรักษาที่แม่นยำ และส่งผลข้างเคียงได้น้อยกว่าการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy)

การตรวจยีนมะเร็งจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง เพื่อประเมินความเสี่ยงและวางแผนการตรวจคัดกรองอย่างเหมาะสม รวมถึงอาจพิจารณาการป้องกันล่วงหน้าในบางกรณี

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ทำอย่างไรบ้าง

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง (Cancer Screening) เป็นการตรวจเพื่อค้นหาโรคมะเร็งตั้งแต่ในช่วงก่อนเป็นโรค จนถึงระยะเริ่มต้น เพื่อทำการรักษาและป้องกันได้อย่างทันท่วงที และเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย แม้ว่าจะยังไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม
โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งมีหลากหลายวิธีตามประเภทของมะเร็งที่เกิดขึ้นในแต่ละอวัยวะ เช่น

  • การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมด้วยการทำเอกซเรย์หรือแมมโมแกรม (Mammogram)
  • การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) เพื่อค้นหาความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก
  • การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่

การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง

การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) เป็นอีกหนึ่งวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ที่ใช้วิธีเจาะเลือด หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ เพื่อนำไปตรวจสอบ ค้นหาความผิดปกติภายในร่างกาย ที่เป็นแนวโน้มหรือความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ เช่น  การตรวจสาร CEA ว่ามีความผิดปกติ และส่งผลต่อการเกิดมะเร็งหรือไม่ หรือการตรวจหายีนกลายพันธุ์ และสารโปรตีนบางชนิดที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งและโรคร้ายอื่น ๆ ได้ เป็นต้น

โดยการตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง นอกจากจะช่วยตรวจคัดกรองโรคมะเร็งได้แล้ว ยังช่วยในการติดตามอาการของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง หรือผู้ป่วยที่หายแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ รวมถึงการตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง ควบคู่กับการตรวจคัดกรองอื่น ๆ เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค และสามารถรักษาและป้องกันได้อย่างทันท่วงที

วิธีการรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง

สำหรับวิธีการรักษาโรคมะเร็ง จะมีวิธีหลัก ๆ 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่

  • การผ่าตัด (Surgery): เพื่อนำก้อนมะเร็งที่มองเห็นได้ออกมา และหยุดการแพร่กระจาย แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคนไข้ ขนาดและตำแหน่งของมะเร็ง ว่าอยู่ในจุดที่ผ่าตัดได้หรือไม่
  • การฉายรังสี หรือการฉายแสง (Radiotherapy): ฉายรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย โดยเฉพาะในเซลล์ที่ตอบสนองต่อรังสีได้ดี แต่หากเซลล์ไม่ตอบสนองต่อรังสี จะทำให้การรักษาไม่เห็นผลเท่าที่ควร
  • การใช้ยาเคมีบำบัด หรือคีโมบำบัด (Chemotherapy): ใช้ยาในการกำจัดและยับยั้งการกระจายตัวของมะเร็ง แต่ก็มีผลข้างเคียงจากการรักษา เป็นหนึ่งในวิธีที่แพร่หลายที่สุดในปัจจุบัน

นอกจากวิธีที่กล่าวไปข้างต้น ก็ยังมีการรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นการรักษาที่ออกแบบมาเพื่อยับยั้งหรือชะลอการทำงานของเซลล์มะเร็งโดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ ทำให้มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการทำเคมีบำบัดแบบดั้งเดิม การรักษาวิธีนี้จะต้องตรวจหาสารพันธุกรรมที่มีการกลายพันธุ์ก่อนเริ่มการรักษา เพื่อให้สามารถเลือกใช้ยามุ่งเป้าได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำที่สุด

การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควรให้ความสำคัญกับทั้งการดูแลด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพระหว่างการรักษา โดยมีแนวทางสำคัญ ดังนี้

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการรักษา

โดยเฉพาะในการทำคีโมบำบัด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ผมร่วง เม็ดเลือดขาวต่ำ และภูมิคุ้มกันลดลง การเข้าใจว่าอาการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม และสามารถปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีบรรเทาอาการเหล่านี้และสังเกตอาการผิดปกติได้ทันท่วงที

โดยเฉพาะในการทำคีโมบำบัด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ผมร่วง เม็ดเลือดขาวต่ำ และภูมิคุ้มกันลดลง การเข้าใจว่าอาการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม และสามารถปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีบรรเทาอาการเหล่านี้และสังเกตอาการผิดปกติได้ทันท่วงที

รับประทานอาหารสุกสะอาดเสมอ

อาหารมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำจากการรักษา อาหารควรปรุงสุกใหม่ สะอาด ปลอดภัยจากเชื้อโรค หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีเชื้อจุลินทรีย์ เช่น อาหารดิบ อาหารค้างคืน นอกจากนี้ ควรเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และเหมาะกับสภาพร่างกายของผู้ป่วย

เฝ้าระวังอาการหลังจากการรักษา

การสังเกตอาการผิดปกติหลังการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ไข้ อาการปวด อาการเหนื่อยผิดปกติ การติดเชื้อ หรืออาการแพ้ยา ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับการรักษา เพื่อให้สามารถรายงานแพทย์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

คอยดูแลและให้กำลังใจผู้ป่วย

การดูแลด้านจิตใจ ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลด้านร่างกาย ผู้ดูแลควรเป็นกำลังใจ คอยรับฟัง ไม่ตัดสิน และช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่ได้เผชิญกับโรคนี้เพียงลำพัง นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบและผ่อนคลาย ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีความสุข ลดความสนใจและความกดดันจากการรักษาและโรคร้ายที่เป็นอยู่ได้

การรักษาและดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4

การรักษามะเร็งระยะที่ 4 มักมีเป้าหมายเพื่อควบคุมโรค ลดการกระจายตัวของมะเร็ง บรรเทาอาการ และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีที่สุด เนื่องจากในระยะดังกล่าวอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างมีคุณภาพ

ส่วนการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้ายนั้น จะใช้วิธีการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดี ลดความเจ็บปวด ทั้งทางกายและทางจิตใจของผู้ป่วยให้มากที่สุด โดยผู้ดูแลหรือครอบครัว ควรให้ความอบอุ่นและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยในระยะนี้ คอยให้กำลังใจ คลายความกังวลใจ ความทุกข์ และสร้างประสบการณ์และความทรงจำที่ดีให้กับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปได้ด้วยความสงบ

หากคุณหรือคนใกล้ตัวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการไม่ยอมแพ้และหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง การตรวจพบโรคมะเร็งอาจเป็นเหมือนพายุที่เข้ามาถาโถมชีวิต แต่ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การสนับสนุนจากครอบครัวและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเทคโนโลยีการรักษาที่ก้าวหน้า ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมะเร็งหลายๆ คนสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง

บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทฯ ในเครือ BGI Genomics ที่ก่อตั้งในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ได้รับมาตรฐาน ISO15189, ISO15190 และ ISO/IEC 27001:2022 จากสถาบันมาตรฐานอังกฤษ (BSI) ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมที่ครอบคลุมในหลายด้าน ได้แก่

  • การตรวจหายีนมะเร็งเพื่อหาตัวยาในการรักษาแบบเฉพาะบุคคล
  • การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์มารดา
  • การตรวจคัดกรองสำหรับผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร หรือมีบุตรยาก
  • การตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ รวมถึงมะเร็งปากมดลูกและ COVID-19
  • การตรวจคัดกรองความเสี่ยงการเกิดมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • การตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมเฉพาะบุคคลเพื่อวางแผนสุขภาพและชะลอวัย
  • การตรวจสุขภาพคัดกรองทั่วไปและเด็กแรกเกิด

ติดต่อเรา
โทร: 094 616 6878
อีเมล: marketing@bangkokgenomics.com
เว็บไซต์: www.bangkokgenomics.co.th

ที่อยู่: 3689 ถนนพระราม 4 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กทม. 10110

เวลาทำการ: จันทร์-ศุกร์ 8.30-17.30 น., เสาร์ 9.00-15.00 น.


บทความที่เกี่ยวข้อง
NZ5_8336
บมจ.แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น (BKGI) ลงนามความร่วมมือกับบริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (Eisai) ยกระดับการตรวจคัดกรองและการรักษาโรคอัลไซเมอร์ เพื่อพัฒนาระบบนิเวศการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์แบบครบวงจรในประเทศไทย ฝากผู้บริหาร “ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์” ประธานกรรมการ BKGI ระบุไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ การตรวจคัดกรองโรคอัลไซเมอร์ให้ได้ตั้งแต่ระยะแรกจึงเป็นหัวใจสำคัญของการรักษา ควบคู่ไปกับนวัตกรรมของยาที่มีประสิทธิภาพ มั่นใจความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวสำคัญเพื่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการขยายธุรกิจด้านการแพทย์แม่นยำให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว
PRMD9270_Enhanced_NR
ลงนามความร่วมมือ MOA (Memorandum of Agreement) ด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างองค์กรของไทยและจีน โดยมี Professor Yingchi Zhang จากสถาบัน Haihe Laboratory of Cell Ecosystem นำทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดจากประเทศจีนสร้างความร่วมมือกับประเทศไทยในการพัฒนายาสำหรับรักษาโรคมะเร็ง
NZ5_3409
บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ บริษัท บีจีไอ เฮลท์ (ฮ่องกง) จำกัด ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และวิจัยร่วมกัน ในการใช้การแพทย์จีโนมิกส์หรือการแพทย์แม่นยำ เรื่อง Clinical whole exome sequencing, การตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์ (NIPT) และการคัดกรองพันธุกรรมธาลัสซีเมียในประเทศไทย
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy