แชร์

มะเร็งระยะที่ 4 กับความหวังใหม่ในการรักษาและการดูแลแบบองค์รวม

105 ผู้เข้าชม

มะเร็งระยะที่ 4 หรือมะเร็งระยะลุกลาม สำหรับบางคนอาจถือเป็นคำพิพากษาสุดท้ายของชีวิต แต่ในความเป็นจริง ผลลัพธ์ของการรักษาในระยะนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเป็นสำคัญ เช่น มะเร็งบางชนิดในระยะที่ 4 เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก อาจตอบสนองต่อการรักษาได้ดีจนผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกนานนับปีหรือแม้กระทั่งหลายสิบปีด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายหลายราย ต่างมีทางเลือกการรักษาที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงแนวทางการดูแลและประคับประคองสุขภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุที่ยืนยาว พร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี

และเพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งระยะที่ 4 ให้มากขึ้น มาทำความรู้จักกับความหมายมะเร็งระยะที่ 4 รวมถึงวิธีการรักษา การดูแลสุขภาพและการสนับสนุนผู้ป่วยให้มีกำลังกายและใจที่ดีขึ้น และอาจเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้

 

มะเร็งระยะที่ 4 คืออะไร

มะเร็งระยะที่ 4 หรือมะเร็งระยะลุกลาม (Metastatic Cancer) คือระยะที่เซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายออกจากอวัยวะต้นกำเนิด ไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ห่างออกไปในร่างกาย เช่น จากปอดไปตับ จากลำไส้ไปปอด หรือจากเต้านมไปกระดูก โดยการแพร่กระจายมักเกิดผ่านทางกระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลือง ซึ่งเป็นช่องทางหลักที่เซลล์มะเร็งสามารถเดินทางไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ในระยะนี้ มะเร็งถือว่ามีความรุนแรงมาก และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้น้อย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกกรณีของมะเร็งระยะที่ 4 จะเหมือนกัน เพราะปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มของโรค ได้แก่ ชนิดของมะเร็ง ตำแหน่งที่แพร่กระจาย ภาวะสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และการตอบสนองต่อการรักษา

ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามมีทางเลือกในการรักษาหลากหลายมากขึ้น เช่น เคมีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด ยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) และการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อบรรเทาอาการ เจ็บปวด และเสริมคุณภาพชีวิต

แม้มะเร็งระยะที่ 4 จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในหลายกรณี แต่ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น พร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี หากได้รับการวางแผนดูแลอย่างเหมาะสมทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม

 

มะเร็งมีกี่ระยะ และมะเร็งระยะลุกลามคือระยะไหน

การแบ่งระยะของโรคมะเร็งทำให้แพทย์สามารถวางแผนรักษาโรคมะเร็งได้อย่างเหมาะสมตามอาการ โดยมะเร็งสามารถแบ่งออกเป็น 5 ระยะหลัก ดังนี้

มะเร็งระยะที่ 0:
พบเซลล์ผิดปกติในชั้นผิวของเนื้อเยื่อ (Carcinoma in situ) ซึ่งยังไม่ลุกล้ำเข้าไปในเนื้อเยื่อปกติด้านล่าง และยังไม่แพร่กระจายไปที่อื่น แต่มีความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งชนิดลุกลามหากไม่ได้รับการรักษา

มะเร็งระยะที่ 1:
เซลล์มะเร็งมีขนาดเล็กและยังคงจำกัดอยู่ในอวัยวะที่เป็นต้นกำเนิด ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือเนื้อเยื่อรอบข้าง เป็นระยะที่มีโอกาสรักษาให้หายได้สูง

มะเร็งระยะที่ 2:
มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าระยะที่ 1 อาจเริ่มลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบข้างหรืออาจพบในต่อมน้ำเหลืองหนึ่งหรือสองแห่งใกล้เคียง ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง

มะเร็งระยะที่ 3:
มะเร็งลุกลามอย่างชัดเจนไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใกล้เคียง และมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงในระดับที่มากขึ้น ยังไม่พบการแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ห่างไกล

มะเร็งระยะที่ 4:
เป็นระยะที่มะเร็งแพร่กระจาย (metastasis) ไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ห่างจากจุดกำเนิด เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก หรือช่องท้อง โดยการแพร่กระจายสามารถเกิดได้จากหลายกลไก ได้แก่:

  • ผ่านกระแสเลือด: เซลล์มะเร็งเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต และแพร่ไปยังอวัยวะต่าง ๆ
  • ผ่านระบบน้ำเหลือง: เซลล์มะเร็งเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองและกระจายผ่านต่อมน้ำเหลืองไปยังบริเวณอื่น
  • การลุกลามโดยตรง: เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่อยู่ติดกันโดยตรง

ด้วยการแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ห่างไกลจากต้นกำเนิดมะเร็ง ทำให้การรักษาโรคมะเร็งระยะที่ 4 นี้มีความซับซ้อนขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าโรคมะเร็งระยะที่ 4 จะไม่มีโอกาสในการรักษาให้หายขาดเสียทีเดียว

 

สัญญาณของมะเร็งระยะสุดท้ายที่ควรสังเกต

การรับรู้และเข้าใจอาการของมะเร็งระยะสุดท้าย หรือระยะลุกลาม (ระยะที่ 4) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดูแลผู้ป่วยอย่างรอบด้าน ทั้งในมิติของร่างกาย จิตใจ และคุณภาพชีวิต โดยสัญญาณที่พบบ่อยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ด้านหลัก ดังนี้

1. อาการทางกายภาพ

อาการทางกายของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและตำแหน่งที่แพร่กระจาย แต่โดยรวมแล้วมักพบอาการสำคัญ เช่น

  • อ่อนเพลียเรื้อรัง แม้ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
  • ปวดเรื้อรังหรือปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหากมีการแพร่กระจายไปยังกระดูก

เมื่อมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ จะเกิดอาการเฉพาะที่ เช่น

  • ปอด: หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง หรือไอเป็นเลือด
  • ตับ: ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวม หรือรู้สึกแน่นบริเวณชายโครงขวา
  • สมอง: ปวดศีรษะรุนแรง ชัก หรือมีอาการเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรง การรับรู้เปลี่ยนไป

2. อาการทางจิตใจและพฤติกรรม

ผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 มักประสบภาวะทางจิตใจจากทั้งผลของโรคและผลข้างเคียงของการรักษา เช่น

  • ความวิตกกังวล
  • ภาวะซึมเศร้า
  • ความกลัวหรือความรู้สึกสิ้นหวัง

อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม เช่น

  • หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม
  • ถอนตัวจากกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ
  • การนอนหลับเปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ หรือหลับมากกว่าปกติ

การดูแลทางจิตใจจึงเป็นส่วนสำคัญของการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับนักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือการสนับสนุนจากครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด

3. ความเปลี่ยนแปลงในการทำงานของอวัยวะ

มะเร็งที่ลุกลามมักส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะปลายทางที่ได้รับผลกระทบ เช่น

  • ตับ: อาจเกิดภาวะตับวาย ส่งผลให้มีอาการบวม เหลือง และการทำงานของร่างกายโดยรวมลดลง
  • ไต: อาจเกิดภาวะไตวาย ทำให้มีของเสียคั่งในร่างกาย อ่อนเพลีย หรือบวมน้ำ
  • ปอด: การแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลง ทำให้หายใจติดขัดหรือเกิดภาวะพร่องออกซิเจน

การติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รวมถึงการประเมินการทำงานของอวัยวะอย่างต่อเนื่องโดยแพทย์ผู้ดูแล จะช่วยให้สามารถปรับแนวทางการดูแลให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละรายได้มากที่สุด

 

มะเร็งระยะที่ 4 รักษาหายได้หรือไม่? และอยู่ได้นานแค่ไหน?

หนึ่งในคำถามที่พบบ่อยที่สุดจากผู้ป่วยและครอบครัว คือ มะเร็งระยะที่ 4 สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่ และผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้นานเพียงใด

ในทางการแพทย์ เรามักใช้อัตรา "การรอดชีวิต 5 ปี" (Five-Year Survival Rate) เป็นตัวชี้วัด โดยหมายถึงสัดส่วนของผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่หลังจากได้รับการวินิจฉัยหรือเริ่มรักษาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งตัวเลขนี้จะแตกต่างกันไปตามชนิดของมะเร็ง ตัวอย่างเช่น:

  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 4: อัตรารอดชีวิตประมาณ 32%
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 4: อัตรารอดชีวิตประมาณ 13%
  • มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา: อัตรารอดชีวิตประมาณ 35%

แม้ตัวเลขเหล่านี้อาจฟังดูน้อย แต่เป็น เพียงค่าเฉลี่ยทางสถิติ ซึ่งไม่ได้สะท้อนโอกาสของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ป่วยบางรายสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานกว่านั้น โดยเฉพาะหากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกของการลุกลาม และมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดี

ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจมีผลตรวจไม่พบเซลล์มะเร็งหลงเหลือ (Minimal Residual Disease: MRD) ซึ่งช่วยยืดเวลาการกลับเป็นซ้ำของโรค และเพิ่มคุณภาพชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ

สรุปคือ แม้ว่าโอกาสในการ "หายขาด" จากมะเร็งระยะที่ 4 จะมีจำกัด แต่ก็ยังคงมีความหวังในการควบคุมโรค ยืดอายุ และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการพยากรณ์โรค

การพยากรณ์โรค (Prognosis) คือการประเมินแนวโน้มของโรค เช่น โอกาสรอดชีวิต การตอบสนองต่อการรักษา และคุณภาพชีวิตในระยะยาว ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีหลายปัจจัยร่วมที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ของโรค ดังนี้: ชนิดของมะเร็ง รวมถึงตำแหน่งและขอบเขตของการแพร่กระจาย การตรวจมะเร็งอย่างทันท่วงที เพื่อหาชนิดของการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมและการตอบสนองต่อการรักษา อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ความพร้อมในการรักษาและเข้าถึงบริการ และสุดท้ายปัจจัยทางจิตใจและสังคม

ยีนก่อโรคมะเร็งบางชนิดจึงมีความสำคัญต่อการพยากรณ์โรค เช่น การกลายพันธุ์ของยีน EGFR ในมะเร็งปอด การกลายพันธุ์ของยีน HER2 ในมะเร็งเต้านม และยีน BRAF ในมะเร็งผิวหนัง ผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์เหล่านี้มักมีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่าเมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม

 

แนวทางการรักษามะเร็งระยะสุดท้าย

ยารักษามะเร็งระยะสุดท้าย

ในปัจจุบัน ยารักษามะเร็งระยะสุดท้ายมีความหลากหลายมากขึ้น และสามารถแบ่งได้หลายกลุ่มหลัก ได้แก่ เคมีบำบัดแบบดั้งเดิม (Chemotherapy) การใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) และฮอร์โมนบำบัด (Hormone Therapy) โดยการรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้ได้สร้างความหวังใหม่ให้กับผู้ป่วยหลายราย เช่น อัตราการรอดชีวิต 10 ปี ของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังระยะลุกลามที่ได้รับภูมิคุ้มกันบำบัดแบบ Nivolumab ร่วมกับ Ipilimumab เพิ่มขึ้นถึง 52% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านการแพทย์ในการเอาชนะมะเร็งระยะสุดท้าย

การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า

การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าเป็นรูปแบบการรักษาที่ออกแบบมาเพื่อโจมตีจุดอ่อนเฉพาะของเซลล์มะเร็งแต่ละชนิด โดยการตรวจยีนหายามุ่งเป้า จะยึดเป้าหมายที่โปรตีนหรือเส้นทางการส่งสัญญาณที่ผิดปกติในเซลล์มะเร็ง โดยที่ยาเหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงและมีผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัดแบบดั้งเดิม

ตัวอย่างยามุ่งเป้าที่สำคัญ ได้แก่

  • Trastuzumab (Herceptin): สำหรับมะเร็งเต้านมที่แสดงออกถึงโปรตีน HER2
  • Osimertinib (Tagrisso): สำหรับมะเร็งปอดที่มีการกลายพันธุ์ EGFR 
  • Vemurafenib (Zelboraf): สำหรับมะเร็งผิวหนังที่มีการกลายพันธุ์ BRAF

การตรวจยีนหายารักษามะเร็ง (OncoPress)

การตรวจยีนหายารักษามะเร็ง ด้วยวิธี OncoPress เป็นการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมของเนื้องอกเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์หรือความผิดปกติทางพันธุกรรมที่สามารถใช้เป็นเป้าหมายในการรักษา และช่วยให้แพทย์สามารถเลือกยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงในการรักษา

OncoPress ใช้เทคโนโลยี Next-Generation Sequencing (NGS) ในการวิเคราะห์ยีนหลายร้อยยีนพร้อมกัน ช่วยระบุการกลายพันธุ์ที่สามารถรักษาได้ ทำนายการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันบำบัด และให้ข้อมูลการพยากรณ์โรคที่แม่นยำมากขึ้น

การจับคู่ยากับการกลายพันธุ์ที่เหมาะสมช่วยเพิ่มอัตราการตอบสนองในเคมีบำบัดทั่วไปจาก 20-40% ให้เพิ่มขึ้นถึง 70-80% ในการรักษาแบบมุ่งเป้า นอกจากนี้ยังช่วยลดผลข้างเคียงและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น

การรักษาแบบประคับประคอง

การรักษามะเร็งระยะสุดท้าย ไม่ได้หมายถึงการรักษาเพื่อให้หายขาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) ที่มุ่งเน้นการลดอาการเจ็บป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิต และให้การสนับสนุนทางจิตใจ โดยการรักษาแบบประคับประคองไม่ใช่การรักษาระยะท้ายเท่านั้น แต่ควรทำตั้งแต่ช่วงเริ่มการวินิจฉัย ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตดีกว่า

 

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4

การดูแลอาการเจ็บปวด

การจัดการความเจ็บปวดเป็นส่วนสำคัญของการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 อาการปวดเหล่านี้อาจเกิดจากเนื้องอกที่กดทับอวัยวะ การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง รวมถึงผลข้างเคียงจากการรักษา การจัดการอาการปวดจึงต้องใช้แนวทางดูแลหลายระดับ ตั้งแต่การใช้ยาแก้ปวดทั่วไป จนถึงยาระงับปวดแบบรุนแรง เช่น มอร์ฟีน หรือวิธีการรักษาเสริมอื่น ๆ ได้แก่ การฉายรังสีเพื่อลดขนาดเนื้องอก การฉีดยาเสื่อมประสาทเฉพาะที่ การฝังเข็ม และเทคนิคการผ่อนคลายร่างกายที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การดูแลโภชนาการ

โภชนาการที่เหมาะสมเป็นส่วนสำคัญของการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และน้ำหนักลด การเตรียมอาหารจึงควรเน้นโปรตีนที่เพียงพอเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อ มีปริมาณแคลอรีที่เพียงพอสำหรับร่างกาย และมีวิตามิน แร่ธาตุ และสารอื่น ๆ ครบถ้วน

และควรปรับเปลี่ยนเมนูให้เหมาะกับอาการของผู้ป่วย หากมีอาการคลื่นไส้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง หากมีปัญหาการกลืน ควรปรับเมนูอาหารให้นุ่มหรือเป็นของเหลว หรือแม้แต่ในบางกรณี ก็อาจต้องใช้อาหารทางหลอดหรือทางเส้นเลือด

การดูแลจิตใจ

การดูแลสุขภาพจิตเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของการรักษาแบบองค์รวม (Holistic  Wellness) ผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 ที่ไม่เพียงเน้นการควบคุมโรค แต่ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต ความสบายใจ และความหมายของชีวิตในทุกช่วงเวลา มักประสบปัญหาทางจิตใจ เช่น ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความกลัวต่อการเสียชีวิต และความรู้สึกสิ้นหวัง 

การสนับสนุนทางจิตใจอาจรวมถึงการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว การรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้าหากจำเป็น การเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนผู้ป่วย และการทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด เช่น การฝึกสมาธิ โยคะ หรือศิลปะบำบัด

การเป็นมะเร็งระยะที่ 4 ในปัจจุบันอาจไม่ใช่จุดจบของชีวิตอีกต่อไป ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ การตรวจสุขภาพแบบครอบคลุม และการดูแลรักษาแบบองค์รวม ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพมากขึ้น  แต่สิ่งสำคัญ คือ การเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม ทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ และการรักษาทัศนคติเชิงบวก แม้จะเผชิญกับความท้าทาย เพราะเป้าหมายไม่ใช่แค่การเพิ่มปีให้ชีวิต แต่เป็นการเพิ่มชีวิตให้กับทุกปีที่ยังอยู่ เพราะความหวังยังคงมีอยู่เสมอ และการรักษาใหม่ ๆ กำลังพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทฯ ในเครือ BGI Genomics ที่ก่อตั้งในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ได้รับมาตรฐาน ISO15189, ISO15190 และ ISO/IEC 27001:2022 จากสถาบันมาตรฐานอังกฤษ (BSI) ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมที่ครอบคลุมในหลายด้าน ได้แก่

  • การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์มารดา
  • การตรวจคัดกรองพาหะโรคทางพันธุกรรมสำหรับผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร หรือมีบุตรยาก
  • การตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนก่อมะเร็ง เพื่อหาตัวยาในการรักษาแบบเฉพาะบุคคล
  • การตรวจคัดกรองความเสี่ยงยีนก่อโรคการเกิดมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • การตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ รวมถึงมะเร็งปากมดลูกและ COVID-19
  • การตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมเฉพาะบุคคลเพื่อวางแผนสุขภาพและชะลอวัย

ติดต่อเรา
โทร: 094 616 6878
อีเมล: marketing@bangkokgenomics.com
เว็บไซต์: https://www.bangkokgenomics.com
ที่อยู่: 3689 ถนนพระราม 4 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กทม. 10110
เวลาทำการ: จันทร์-ศุกร์ 8.30-17.30 น., เสาร์ 9.00-15.00 น.


บทความที่เกี่ยวข้อง
Minimal Residual Disease (MRD) คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อการรักษาโรคมะเร็ง
Minimal Residual Disease (MRD) หรือ โรคตกค้างน้อยที่สุด คือเซลล์มะเร็งเล็กน้อยที่หลงเหลืออยู่ในร่างกายหลังการรักษา และมีความสำคัญอย่างยิ่งในการประเมินผลการรักษา
Comprehensive Genetic Testing คืออะไร จำเป็นอย่างไรต่อการดูแลสุขภาพ
Comprehensive Genetic Testing หรือการตรวจรหัสพันธุกรรมแบบครอบคลุม ที่ช่วยให้เราเข้าใจความเสี่ยงทางพันธุกรรม วินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษาได้แม่นยำและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
ทำความรู้จักยีน APOE ทำไมถึงเสี่ยงต่ออัลไซเมอร์
ทำความรู้จักยีน APOE ว่ามันคืออะไร ทำหน้าที่อะไรในร่างกายของเรา และทำไม ยีน APOE ถึงเพิ่มความเสี่ยงต่ออัลไซเมอร์ได้ รวมถึงการตรวจความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy